วันปิยมหาราช 23 ตุลาคมของทุกปี พสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้มีพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
ประวัติวันปิยมหาราช น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตจากไข้ป่าหลังจากเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ขณะนั้น รัชกาลที่ 5 มีพระชมพรรษา 15 พรรษา จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนพระชนมพรรษา 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว”
วันปิยมหาราช ถือเป็นวันหยุดราชการที่สำคัญวันหนึ่งของไทย หน่วยงานราชการต่างๆ จัดพิธีประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องราชสักการะ สำนักพระราชวังจัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์
การจัดพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรกจัดขึ้นหลังจากปีที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย แล้วได้เสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือที่เรียกกันว่า “พระบรมรูปทรงม้า”
พระบรมรูปทรงม้า เป็นงานออกแบบของนายช่างชาวฝรั่งเศส สร้างขึ้นจากเงินที่ประชาชนสมทบทุนงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสที่รัชกาลที่ 5 เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 40 ปี โดยพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง
พระบรมรูปทรงม้า หล่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยนำแบบอย่างมาจากการสร้างพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกโลหะขณะประทับที่กรุงปารีส ในครั้งที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปีพุทธศักราช 2450
องค์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ที่เป็นม้ายืน ประดิษฐานบนแท่นรองทำจากหินอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร บริเวณฐานมีจารึกชื่อช่างปั้นและโรงงานหล่อไว้
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ถวายพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญแก่ประเทศสยามหลายด้าน ได้แก่
พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5
- พ.ศ. 2416 ยกเลิกระบบหมอบกราบ และกำหนดการแต่งกายของทหาร
หลังจากกำหนดให้ทหารสวมเสื้อราชปะแตน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในพระนครมากขึ้น พระองค์ก็ทรงกำหนดยกเลิกการหมอบกราบกษัตริย์
การเลิกทาส ยกเลิกระบบไพร่ และยกเลิกระบบหมอบกราบ
พระราชบัญญัติเลิกทาส
ร.ศ. 124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448
และมีข้อกำหนดไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก
- พ.ศ. 2417 สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสร้างโรงเรียนแห่งแรก
ก่อตั้ง โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ภายในรัชสมัยของพระองค์ก็มีการก่อตั้งโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งโรงเรียนวัด และโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆ และประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศไทย ในปีดังกล่าวยังมีประกาศใช้เหรียญที่ทำมาจากทองแดง และธนบัตร ซึ่งประชาชนเรียกว่า “อัฐกระดาษ”
- พ.ศ. 2424 ทดลองใช้โทรศัพท์
ทดลองใช้โทรศัพท์สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถือเป็นปีแรกที่ประเทศสยามมีโทรศัพท์ใช้
- พ.ศ. 2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ โทรเลข
ก่อตั้งระบบไปรษณีย์ โทรเลข ในกรุงเทพฯ เพื่อการสื่อสารในพระนคร
- พ.ศ. 2431 ตั้งระบบปกครองส่วนกลางใหม่ และสร้างโรงพยาบาล
ก่อตั้งระบบเขตการปกครอง มณฑล เทศาภิบาล อำเภอ และจังหวัด สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ภายหลังคือ “โรงพยาบาลศิริราช”
- พ.ศ. 2433 คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก
ชาวพระนครได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก หลังจากการสร้างโรงไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย
- พ.ศ. 2434 ตั้งกรมรถไฟ
ก่อตั้ง กรมรถไฟ ก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และเดินรถไฟเอกชนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436 คนไทยได้มีโอกาสใช้รถไฟครั้งแรกในปี พ.ศ. 2439 ในเส้นทางกรุงเทพฯ อยุธยา เป็นระยะทาง 71 กิโลเมตร ระยะแรกเดินขบวนทั้งหมด 4 ขบวน จอด 9 สถานีตั้งแต่กรุงเทพฯ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า เส้นทางการรถไฟสายแรกคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีกระทำพระฤกษ์ ณ ย่านสถานีกรุงเทพฯ
- พ.ศ. 2436 ก่อตั้งสภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุสงคราม ริเริ่มโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ได้รวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น และทำบันทึกกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง สภาอุนาโลมแดงแห่งชาติสยาม เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์แก่ทหารที่บาดเจ็บ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เรี่ยรายเงินได้ 443,716 บาท จึงได้เริ่มก่อตั้งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436 ภายหลังได้ถูกเรียกชื่อว่าเป็นสภากาชาดไทย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้รับรองสภากาชาดไทยในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 และเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2464
ประชาชนได้ใช้น้ำประปาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2452 จากการยกระดับการผลิตน้ำให้มีความสะอาดได้มาตรฐาน ผ่านการขุดคลองจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี เข้ามาทางสามเสน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานตัดถนนสายหลักสำคัญในเขตพระนครอีกหลายแห่ง เพื่อขยายเส้นทางคมนาคม เปลี่ยนจากการเดินทางโดยสารทางเรือมาเป็นทางบก
การสักการะพระปิยมหาราช พระบรมรูปทรงม้า
แท่นศิลาหินอ่อนด้านหน้า จารึกคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติยิ่งยืนนาน บริเวณด้านหน้าพระบรมรูปมักมีประชาชนมาถวายสักการะ โดยเฉพาะวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ประชาชนจะนำดอกกุหลาบสีชมพูอันเป็นสีของวันอังคาร วันพระบรมราชสมภพ มาถวาย นอกจากวันที่ 23 ตุลาคมแล้ว ประชาชนยังนิยมมาถวายสักการะในคืนวันอังคาร เวลา 22.00 น. เพราะมีความเชื่อว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาประทับ ณ พระบรมรูปทรงม้าด้วย
การจัดโต๊ะหมู่บูชาถวายของสักการะพระปิยมหาราช
สิ่งที่นิยมจัดบนโต๊ะหมู่บูชาเพื่อสักการะพระปิยมหาราช เช่น บายศรี หมากพลู บุหรี่ เหล้า เหล้าฝรั่ง น้ำมนต์ เชิงเทียน กระถางธูป ฯลฯ
คำถวายสักการะพระปิยมหาราช
สยามเทวะนุภาเวนะ สยามะเทวะเตชะสา ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสภา สันตุ จะปัททะวา อเนกา อันตะรายาปี วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตภิภาคะยัง สุขัง พลัง สิริ อายุ จะวัณโณ จะ โภคัง วุฑฒิจะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธี ภะวันต เม